[[HOME]]
การประเมินผลการปฏิบัติงานแบบใหม่

การประเมินผลการปฏิบัติงาน ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

(เริ่มใช้ในรอบการประเมินที่ 1 ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นไป)

****************************

                   ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หมวด 4 การเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ มาตรา 76 กำหนดให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแต่งตั้ง และเลื่อนเงินเดือน รวมถึงการพัฒนาและเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ซึ่ง การกำหนดเรื่องของการประเมินผลการปฏิบัติราชการไว้ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แสดงให้เห็นถึงการ เปลี่ยนแปลงการบริหารทรัพยากรบุคคลของหน่วยงานภาครัฐ ที่ให้การประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการเป็นเครื่องมือสำคัญในการ บริหารทรัพยากรบุคคลของหน่วยงาน ซึ่งแม้ว่า การประเมินผลการปฏิบัติงานจะมิใช่กระบวนการหลักที่จะนำมาซึ่งประสิทธิผลประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน แต่เป็นองค์ประกอบหนึ่งในกระบวนการบริหารผลการปฏิบัติงาน

                   ตามมาตรา 76 ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ให้การประเมิน ผลการปฏิบัติราชการเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.กำหนด ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำร่างคู่มือ การประเมินผลการปฏิบัติราชการ เพื่อช่วยให้ส่วนราชการนำไปใช้เป็นแนวทางดำเนินการต่อไป (เปิดดูได้ ที่เว็บไซด์สำนักงาน ก.พ. www.ocsc.go.th ) ระบบการประเมินแบบใหม่นี้จะกำหนดให้ใช้ในรอบการประเมิน ที่ 1 ของปีงบประมาณ 2553 โดยมีหลักการดังนี้

                   - การประเมินผลการปฏิบัติราชการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารผลการปฏิบัติ ราชการ เป็นการวัดผลสำเร็จของงานในช่วงที่กำหนดไว้แน่ชัด เพื่อเปรียบเทียบผลสำเร็จของงานกับเป้าหมายที่กำหนด ว่าผลสำเร็จในการปฏิบัติงานของแต่ละบุคคลเกิดขึ้นได้ตามเป้าหมายจริงหรือไม่ อย่างไร

                   - การประเมินจะเป็นการประเมินตามสิ่งที่ตกลงกันไว้หรือผลสัมฤทธิ์ของงานซึ่งกำหนดโดยตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย รวมถึงพฤติกรรมที่แสดงออกในการปฏิบัติงานซึ่งกำหนดโดยสมรรถนะ

                   - ในการประเมินจะนำคะแนนการประเมินผลสัมฤทธิ์ กับคะแนนการประเมินสมรรถนะ มาคำนวณรวมกันจะได้คะแนนผลการปฏิบัติราชการ ซึ่งจะนำไปใช้ในการพิจารณาความดีความชอบ ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลในการปรึกษาหารือระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้บังคับบัญชา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิผลในการปฏิบัติราชการ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรต่อไป

                   - ส่วนราชการอาจกำหนดองค์ประกอบที่สามของการประเมินเพิ่มเติมเองก็ได้นอกเหนือ ไปจากการประเมินผลสัมฤทธิ์ กับการประเมินสมรรถนะ

                   - สัดส่วนหรือน้ำหนักในการประเมินจะไม่เท่ากัน โดยองค์ประกอบด้านผลสัมฤทธิ์ของงาน ควรมีน้ำหนักไม่น้อยกว่าร้อยละ70 แต่สำหรับข้าราชการผู้ทดลองปฏิบัติราชการส่วนราชการอาจให้น้ำหนักส่วนนี้น้อยกว่าร้อยละ 70

                   - มีการกำหนดผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินและผู้รับการประเมิน โดยพิจารณาจากลักษณะของการปฏิบัติราชการ

                   - คะแนนผลการประเมินจะถูกจัดออกตามระดับผลการปฏิบัติราชการ 5 ระดับ (ดีเด่น  ดีมาก   ดี พอใช้ และต้องปรับปรุง) และต้องจำแนกว่าผ่านหรือไม่ผ่านการประเมินด้วยสำหรับข้าราชการ ผู้ทดลองปฏิบัติราชการ

                   - กำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการปีละ 2 รอบ คือ รอบที่ 1 ระหว่าง 1 ตุลาคม - 31 มีนาคม ของปีถัดไป และรอบที่ 2 ระหว่าง 1 เมษายน - 30 กันยายน

                   - ในระหว่างรอบการประเมิน ผู้บังคับบัญชาต้องติดตามผลการปฏิบัติงานเป็นระยะๆ พร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาในประเด็นต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาที่พบในการทำงาน การปรับปรุงตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

                   - ผู้บังคับบัญชา (ผู้ประเมิน) ต้องแจ้งผลการประเมินด้วยตนเอง พร้อมทั้งร่วมกันวางแผน การปฏิบัติงานในรอบการประเมินถัดไป

                   - กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองผลการปฏิบัติราชการขึ้นในส่วนราชการ เพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานและความเป็นธรรมในการใช้ดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา

                   เพื่อเตรียมการสำหรับการนำระบบการประเมินแบบใหม่มาใช้นี้ สำนักงานปลัดกระทรวง มหาดไทย โดย กองการเจ้าหน้าที่ สป. และสถาบันดำรงราชานุภาพ สป. จึงได้จัดทำโครงการศึกษา วิเคราะห์ จัดทำ และพัฒนาการประเมินผลการปฏิบัติงาน ของข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โครงการดังกล่าวเป็นการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำระบบประเมินผลการปฏิบัติงาน ของข้าราชการสำนักงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทั่วไปทุกสายงานและระดับตำแหน่ง และการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการ ผู้ทดลองปฏิบัติราชการ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค โดยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน และการสร้างแบบประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาใช้ในการ ประเมินผลการปฏิบัติงานของ    ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแนวทางการบริหารราชการ/ทรัพยากรบุ คคลแนวใหม่ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีคำสั่งที่ 53/2552 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานขึ้น เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว

                   แนวทางดำเนินงานตามโครงการฯ

                   1. การกำหนดเกณฑ์ การจัดทำแบบประเมิน และการกำหนดวิธีการประเมินสำหรับการประเมิน ผลการปฏิบัติงานของข้าราชการทั่วไป และการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการผู้ทดลองปฏิบัติราชการ โดยคณะทำงานที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง

                   2. ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานจังหวัด จัดทำแบบประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อ 1.

                   3. ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยนำแบบประเมินไปใช้

                   4. การ ศึกษาและวิเคราะห์ผลการใช้ รวมถึงข้อบกพร่องของแบบประเมิน และวิธีการประเมิน เพื่อการปรับปรุงให้การประเมินผลการปฏิบัติงานให้มีความสมบูรณ์

                   ความคืบหน้าของการดำเนินงานของคณะทำงานในการเตรียมการสำหรับการนำระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานแบบใหม่มาใช้นี้ กองการเจ้าหน้าที่ สป. จะประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการทราบเป็นระยะต่อไป

 

                                               

กองการเจ้าหน้าที่ สป.

กลุ่มงานสรรหารและประเมินบุคคล

มีนาคม 2552